สะเก็ดเงิน

#สะเก็ดเงิน

#HealthCenter
#https://www.youtube.com/channel/UCBrcRt7scwPT3khbRoLHoiA

#โรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงิน โรคเกล็ดเงิน โรคเรื้อนกวาง หรือโซริอาซิส (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่ใช่โรคติดต่อ รอยโรคมีลักษณะขึ้นเป็นผื่นหรือปื้นและมีเกล็ดสีเงินปกคลุม สามารถพบเกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วน แต่ที่พบได้บ่อยคือ ผิวหนังส่วนข้อศอกและเข่าด้านนอก ผิวหนังส่วนด้านหลัง หลังมือ หลังเท้า หนังศีรษะ และใบหน้า ผู้ป่วยมักมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ นานแรมปีหรือตลอดชีวิต ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเพราะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐานแล้วมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการและอาการแสดงทางผิวหนัง เล็บ และข้อร่วมด้วย แต่ความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่จำเป็นที่บิดา มารดา หรือญาติพี่น้องจะต้องเป็นโรคนี้กันทุกคน เพียงแต่ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะเป็นโรคนี้อยู่

#สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน (ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว) เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติร่วมกับเกิดการอักเสบจึงเกิดเป็นปื้น (Plaque) หรือเป็นแผ่นหนา แดง คันและตกสะเก็ด

ในคนปกตินั้น เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าจะมีการงอกใหม่จากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวหนังบนชั้นนอกสุดที่แก่ตัวตายและหลุดออกไปเป็นวัฏจักร โดยเซลล์ผิวหนังที่งอกใหม่จะใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดประมาณ 26 วัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินนี้ บริเวณรอยโรคจะมีการแบ่งตัวหรือการงอกของเซลล์ผิวหนังใหม่เร็วกว่าปกติ และใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาชั้นนอกสุดของผิวหนังเพียงประมาณแค่ 4 วัน ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดออกในอัตราความเร็วที่ไม่ทันกับการงอกของเซลล์ใหม่ จึงทำให้เกิดการหนาตัวของผิวหนังกลายเป็นตุ่มหรือปื้น และมีเกล็ดสีเงินปกคลุมซึ่งหลุดลอกออกง่าย

มีการสันนิษฐานว่าความผิดปกติดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ ลิมโฟไซต์ ชนิด T cells (ปกติจะทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรค) ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไป เมื่อเคลื่อนตัวมาที่ชั้นใต้ผิวหนัง ก็จะทำงานร่วมกับสารอื่น ๆ กระตุ้นให้เซลล์หนังกำพร้าเกิดการแบ่งตัวและเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ และก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนังทั้งในชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีแบบแผนการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไม่ชัดเจน โดยพบว่าถ้าบิดาและมารดาเป็นโรคนี้ บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 65-83% ถ้าบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรค บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ลดลงเหลือ 28-50% หรือถ้ามีพี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยที่บิดาและมารดาไม่ได้เป็นโรค บุตรคนถัดไปที่เกิดมาก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 24% แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่เป็นโรคนี้เลย บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยลงไปเหลือเพียง 4% โดยลักษณะทางพันธุกรรมนี้เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานของการเกิดโรค และการเกิดอาการของโรคก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แม้ผู้ป่วยจะมีลักษณะทางพันธุกรรมของโรคสะเก็ดเงินอยู่ก็ตาม แต่ถ้าไม่มีปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้นหรือส่งเสริมมากระทบ ผู้ป่วยก็จะไม่เกิดอาการของโรค ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละรายจึงควรสังเกตและพยายามหาให้ได้ว่ามีปัจจัยแวดล้อมอะไรบ้างที่ทำให้โรคกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบ เพราะปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่อย่างใด

ปัจจุบันพบว่ามียีนผิดปกติของโรคนี้อยู่มากกว่า 8 ชนิด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะมียีนผิดปกติที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้มีอาการแสดงได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าผู้ที่มียีนของโรคนี้แฝงอยู่ในร่างกายมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ที่ไม่มีอาการ ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการ

..........................................................................................
ปรึกษาปัญหาสุขภาพเพิ่มเติมและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์งานวิจัยได้ที่:
☎ 089-986-1792