ทุกข์เพราะยึด : เข้าใจ เหตุยึดติด จิตก็ปล่อยวาง หลุดพ้น - พุทธวจน พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

เมื่อพูดถึงความทุกข์กายแล้ว สาเหตุมีเยอะแยะไปหมด ความหิว ความเจ็บป่วย แผ่นดินไหว อุบัติเหตุ อุทกภัย การปล้นจี้ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุของความทุกข์ทางกาย แต่ถ้าพูดถึงความทุกข์ใจแล้ว ก็มีอยู่สาเหตุเดียว นั่นคือ ทุกข์เพราะยึด
ความยึดติด ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง คือสาเหตุหลักที่ทำให้คนเรามีความทุกข์ใจ ยึดติดเรื่องอะไรบ้าง ก็ยึดติดเรื่องราวในอดีต เช่น ความสูญเสียในอดีต โดยเฉพาะสูญเสียของรัก สูญเสียคนรัก รวมไปถึงความเจ็บปวดรวดร้าวที่ถูกกระทำโดยใครบางคน ที่จริงมันผ่านไปนานแล้ว แต่พอยึดเอาไว้ที่ใจ ไม่ยอมปล่อยวาง ก็เลยทุกข์ เจ็บปวด โกรธแค้น เสียดาย อาลัย ถ้าไม่ทุกข์เพราะยึดในอดีต ก็กังวลกับอนาคต เหตุร้ายยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็กังวลหรือตีตนไปก่อนไข้เสียแล้ว บางทีก็นึกถึงอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า บางคนเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย แต่ก็นึกปรุงแต่งไปไกลว่าฉันจะตายแล้วหรือนี่ ความกังวลกับอนาคตก็เป็นความยึดติดอีกแบบที่ทำให้เราทุกข์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่นึกถึงอนาคต ความกังวลก็ไม่เกิด ความกลัวก็เช่นกัน ส่วนใหญ่เรากลัวสิ่งที่ยังไม่เกิด ตอนนี้ยังสบายดีอยู่ แต่นึกถึงเหตุร้ายล่วงหน้า อันนี้เรียกว่าคิดข้ามช็อต ก็เลยทำให้เป็นทุกข์

นอกจากความยึดติดในอดีต ในอนาคตแล้ว สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ถ้ายึดติดก็ทุกข์เหมือนกัน อย่างเช่น เสียงที่มารบกวนขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิ เสียงโทรศัพท์ก็ดี เสียงรถยนต์ก็ดี อาจจะไม่ดังเท่าไหร่ แต่พอใจเราไปยึดติดเข้า ก็เป็นทุกข์ทันที เกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจ ยิ่งปรุงแต่งต่อไปว่ามันไม่น่า มันไม่ควร เราก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น เกิดโทสะ เกิดความโกรธ นี่ก็เรียกว่าเป็นเพราะยึดติดกับอารมณ์ปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบันอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวทนา เรานั่งนานๆ หรือว่าอยู่กลางแดด ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้น ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นของจริง ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต มันเป็นปัจจุบัน แต่พอใจเราปักตรึงลงไปตรงนั้น ทีนี้ไม่ใช่แค่ทุกข์กายแล้ว แต่ยังมีทุกข์ใจด้วย ถ้าเราไม่ปล่อย ไม่วาง ความทุกข์ก็ตามมารบกวนจิตใจของเรา

อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ ๔ เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ ในทางศาสนาพุทธ คือ ไตรลักษณ์(หลักสัจจธรรมของพุทธศาสนา) เป็นลักษณะสภาพพื้นฐานธรรมชาติอย่างหนึ่ง จากทั้งหมด 3 ลักษณะ ที่พุทธศาสนาได้สอนให้เข้าใจถึงเหตุลักษณะแห่งสรรพสิ่งที่เป็นไปภายใต้กฎไตรลักษณ์ อันได้แก่

1. อนิจจัง (ความไม่เที่ยงแท้)
2. ทุกขัง (ความทนอยู่อย่างเดิมได้ยาก)
3. อนัตตา (ความไม่มีแก่นสาระ)

เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท (หลักศรัทธาของพุทธศาสนา) พุทธศาสนา สอนว่า ความทุกข์ ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดดลบันดาล หากเกิดแต่เหตุและปัจจัยต่างๆ มาประชุมพร้อมกัน โดยมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้หรือ อวิชชา ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่ขาดตอน เพราะนามธาตุที่เป็นไปตามกฎนิยาม ตามกระบวนการที่เรียกว่ามหาปัฏฐาน ทำให้เกิดสังขารเจตสิกกฎเกณฑ์การปรุงแต่งซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นดุจพันธุกรรมของจิต วิวัฒนาการเป็นธรรมธาตุอันเป็นระบบการทำงานของนามขันธ์ที่ประกอบกันเป็นจิต ( อันเป็นสภาวะที่รับรู้และเป็นไปตามเจตสิกของนามธาตุ) และเป็นวิญญาณขันธ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธาตุแสง (รังสิโยธาตุ) อันเกิดจากการทำงานของนามธาตุอย่างเป็นระบบ จนสามารถประสานหรือกำหนดกฎเกณฑ์รูปขันธ์ ของชีวิตินทรีย์ (เช่นไวรัส แบคทีเรีย ต้นไม้ เซลล์ ที่มีชีวิตขึ้นมาเพราะกฎพีชนิยาม) ทำให้เหตุผลของรูปขันธ์เป็นไปตามเหตุผลของนามขันธ์ด้วย (จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว) ทำให้รูปขันธ์ที่เป็นชีวิตินทรีย์พัฒนามีร่างกายที่สลับซับซ้อนมีระบบการทำงานจนเกิดมีปสาทรูป 5 รวมการรับรู้ทางมโนทวารอีก 1 เป็นอายตนะทั้ง 6 เมื่ออายตนะกระทบกับสรรพสิ่งที่มากระทบจนเกิดผัสสะ จนเกิดเวทนา คือ ความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง(อุเบกขา)

ความดับทุกข์ (นิโรธ) คือ นิพพาน ( เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ) อันเป็น แก่นของศาสนาพุทธ เป็นความสุขสูงสุด หรือเรียกอีกอย่างว่า

- วิราคะ ปราศจากกิเลส
- วิโมกข์ พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
- อนาลโย ไม่มีความอาลัย
- ปฏินิสสัคคายะ การปล่อยวาง
- วิมุตติ การไม่ปรุงแต่ง
- อตัมมยตา ไม่หวั่นไหว
และ - สุญญตา ความว่าง
เนื่องจากธรรมดาของสัตว์โลกมีปกติทำความชั่วมากโดยบริสุทธิ์ใจในความเห็นแก่ตัว ทำดีน้อยซึ่งไม่บริสุทธิ์ใจ ซ้ำหวังผลตอบแทน จึงมีปกติรับทุกข์มากกว่าสุข ดังนั้น ถ้าเป็นผู้มีปัญญาหรือเป็นพ่อค้าที่ฉลาดยอมรู้ว่าขาดทุนมากกว่าได้กำไร และ สุขที่ได้เป็นเพียงมายา ย่อมปรารถนาในพระนิพพาน เมื่อ ขันธ์5 แตกสลาย เจตสิกที่ประกอบกันให้เกิดเป็นจิตนั้นก็แตกสลายตามเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีเหตุปัจจัยจะประกอบกันให้เกิดเป็นจิตนั้น กรรมย่อมไม่อาจให้ผลได้อีก (อโหสิกรรม) เหลือเพียงแต่พระคุณความดี เมื่อมีผู้บูชาย่อมส่งผลกรรมดีให้แก่ผู้บูชาเหมือนคนตีกลอง กลองไม่รับรู้เสียง แต่ผู้ตีได้รับอานิสงส์เสียงจากกลอง

วิถีทางดับทุกข์ (มรรค) คือ มัชฌิมาปฏิปทา (หลักการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนา) ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว โดยยึดหลักทางสายกลาง อันเป็นอริยมรรค คือ การฝึกสติ (การทำหน้าที่ของจิตคือตัวรู้ให้สมบูรณ์) เป็นวิธีฝึกฝนจิตเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์หรือมหาสติปัฏฐาน โดยการปฏิบัติหน้าที่ทุกชนิดอย่างมีสติด้วยจิตว่างตามครรลองแห่งธรรมชาติ มีสติอยู่กับตัวเองในเวลาปัจจุบัน สิ่งที่กำลังกระทำอยู่เป็นสิ่งสำคัญกว่าทุกสรรพสิ่ง ทำสติอย่างมีศิลปะคือรู้ว่าเวลาและสถานการณ์เช่นนี้ ควรทำสติกำหนดรู้กิจใดเช่นไรจึงเหมาะสม จนบรรลุญานตลอดจน มรรคผล เมื่อจำแนกตามลำดับขั้นตอนของการบำเพ็ญเพียรฝึกฝนทางจิต คือ

1. ศีล
2. สมาธิ
3. ปัญญา