ธรรมละนิด : พุทธศาสนากับความสุข

พอพูดถึงพุทธศาสนามักจะได้ยินเรื่องความทุกข์บ่อยๆ อยากรู้ว่าแล้วในแง่ความสุข พุทธศาสนามองความสุขอย่างไร?

ที่จริงก็ไม่ใช่ว่าไม่กล่าวถึง ที่จริงคำว่าทุกข์เราอาจจะแปลได้ว่า ภาวะที่ขาดความสุขที่แท้จริง เดี๋ยวหลายคนบอกว่าไม่เห็นมีความทุกข์อะไร ถ้าเราแปลอย่างนี้ก็ตอบเขาได้ว่า อ้าว...แสดงว่าคุณเข้าถึงความสุขที่แท้จริงแล้วเหรอ ไม่ เขามีความสุขแบบกระท่อนกระแท่น ความสุขผิวเผิน

แต่พุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่า ความสุขมีหลายประเภท หลายระดับ แล้วความสุขที่เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณที่เรียกว่า กามสุข ความสุขทางเนื้อหนัง เกิดจากการกระตุ้นประสาทต่างๆ เป็นความสุขที่มีข้อบกพร่องมาก มีเงื่อนไขมาก เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ แล้วที่เห็นได้ชัดว่า ได้เท่าไรก็ไม่เคยรู้สึกอิ่มสักที

ความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่าก็มี อย่างเช่น ความสุขจากการแบ่งปัน จากการช่วยเหลือ การให้อย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน อันนี้ก็มี เป็นสิ่งที่ให้ความสุขด้วย แล้วก็รับความสุขด้วย ความสุขที่เกิดจากการควบคุมพฤติกรรมภายในกรอบที่เรากำหนดเอง ด้วยความสมัครใจ เรียกว่าเป็นผู้ทรงศีล เมื่อเราไม่ละเมิดศีล ๕ ข้อ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความรู้สึกเป็นเพื่อนกับตัวเอง ความเคารพนับถือตัวเอง ย่อมปรากฏชัด เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ในใจ กิเลสนั้นจะคอยกีดกันหรือว่าจะเป็นอุปสรรค ทำให้ความสุขที่ละเอียดอ่อน และความสุขที่ตอบปัญหาชีวิตเราได้นั้น ไม่เกิดขึ้น เราจึงต้องฝึกจิตให้รู้จักปล่อยวางนิวรณ์ สิ่งเศร้าหมองอยู่ในจิตใจ เมื่อจิตใจเราได้รับผลของการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นสมาธิ จิตมีความมั่นคง หนักแน่น เยือกเย็น มีความสุขเกิดขึ้น เป็นธรรมชาติธรรมดาของจิตที่ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง เราจึงจะเริ่มเข้าใจในความหมายของ นิรามิสสุข สุขทางเนื้อหนังเรียกว่า อามิสสุข เกิดจากอามิส เกิดจากการกระตุ้น ส่วนนิรามิสสุขเกิดจากจิตใจที่สะอาดสะอ้านภายใน พ้นจากอำนาจของกิเลส แม้แต่ชั่วคราวก็ดี

แต่ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ ความสุขที่แท้จริงย่อมเกิดไม่ได้ หลังจากเมื่อจิตใจได้เจริญด้วยสมาธิภาวนาเป็นฐานแล้ว เราต้องเจริญปัญญา เพราะการรู้แจ้งเห็นจริง ในกายในใจ จนเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ เป็นสิ่งที่ขจัดกิเลสโดยสิ้นเชิง เมื่อกิเลสดับโดยสิ้นเชิง ทุกข์ดับโดยสิ้นเชิงแล้ว เราก็เข้าถึงความสุขที่แท้จริง

พระอาจารย์ชยสาโร